3 พ.ย. 2553

มากกว่าลูกกลม ๆ

More Than a Game

โดย อัล อัค
4 ปี... ช่างรวดเร็วเสียจริง ฟุตบอลโลกกลับมาอีกครั้ง ฤดูกาลแบบนี้ทำกิจกรรมค่อนข้างยาก เพราะเด็กหนุ่มมุสลิมหลายคน(ทุกวันนี้รวมไปทั้งเด็กสาวด้วย) ไม่มีเวลามาเข้าร่วม เพราะต้องเก็บแรงไว้ เชียร์บอล

แน่นอนครับ ครบรอบ 4 ปี เมื่อไร เราจะได้เห็นบรรยากาศที่เรียกว่า “คลั่ง” บอล ขอสารภาพว่า ผมเข้าถึงอารมณ์ “คลั่ง” บอลของคนทั่วไปยากมาก ๆ และยิ่งเข้าใจยากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อพบว่าพวก “หัวอิสลาม” (ตามที่พวกเขาเรียกตัวเอง) หลายคนเกิดอาการเสียสมาธิในการพูดคุยกันในเรื่องอิสลามหรือการประชุมใน กิจกรรมขององค์กร เนื่องจากได้เวลาถ่ายทอดสดบอลคู่โปรด
เดิมผมเข้าใจว่า คนที่ติดบอลน่าจะเป็นพวกที่ไม่ค่อยสนใจศาสนาเท่าไร แต่ได้พบความจริงว่า หลายครั้งที่ผมเผลอออกจากวงสนทนาของพวก “หัวอิสลาม” ไป พอกลับเข้ามาผมได้ยินการสนทนาถึงเกมการแข่งขันฟุตบอล ชนิดเข้าถึงอย่างไม่ธรรมดาเลย
เมื่อผมเข้าไม่ถึง อารมณ์ ผมจึงต้องไปถามคนที่เชื่อว่าเป็นพวก “หัวอิส ลาม” หลาย ๆ คนที่ติดบอลว่า เกิดอะไรขึ้นกับอาการเหล่านี้ แต่ละคนก็หาเหตุผลกันไปคนละทิศละทาง บางทีก็ปฏิเสธคล้าย ๆ กับคนติดบุหรี่ที่บอกว่า “ไม่ได้ติด (เพียงแต่เลิกไม่ได้เท่านั้นเอง)”
ผมจึงนั่งหาคำตอบ เอาเองว่าว่า เหตุใดคนจึงคลั่งไคล้บอลได้ขนาดนี้ แล้วผมก็แน่ใจว่าได้เจอคำตอบแล้ว เมื่อผมเหลือบไปเห็นทีวีรายการวิเคราะห์เบื้องหลังชัยชนะของบอลโลกแต่ละสมัย รายการนี้ก็อปปี้ฝรั่งมา ชื่อว่า “More Than A Game” หรือ “ยิ่งกว่าเกม” ผม ทดลองนั่งดู 1 ตอน(เท่านั้น) ก็พบคำตอบหลาย ๆ อย่าง ที่ต้องอุทานออกมาว่า “More Than A Game” มันมากกว่าลูกกลม ๆ ซะแล้ว

ผมดูแล้ว กล้าสรุปส่วนตัวเลยว่า มุสลิมที่ดีไม่ควรติดบอล และถ้าหาคำฟัตวาจากอุละมาอ์มายืนยันร่วมกันได้มากกว่านี้ ผมอยากจะใช้คำว่า ต้องต่อต้านรูปแบบการจัดแข่งขันฟุตบอลที่แพร่หลายทั่วโลกด้วยซ้ำไป
ทำไมหรือครับ ผมคิดว่า ฟุตบอลทุกวันนี้ได้กลายเป็นเกมแห่งความหลง คือเน้นการหลงใหลทีมใดทีมหนึ่ง และมีการติดตามเรื่องราวของทีมหรือคนดังในทีมมาอย่างต่อเนื่อง มีการชื่นชมทีมตัวเองรักและนักบอลที่ตัวเองโปรดอย่างแรงกล้า
อารมณ์ความรู้สึก แบบนี้ สามารถควักกระเป๋าซื้อเสื้อของทีมโปรดเป็นหลักพันได้ อารมณ์แบบนี้สามารถไปยืนรอนักบอลที่ตัวเองโปรดที่สนามบินได้เป็นวัน ๆ เรียกว่าไปฏอวาฟกันรอบ ๆ นักบอลได้เลย ผมเองอธิบายไม่ถูก เมื่อพบว่าเด็กมุสลิมบางคน พยายามเข้าไปลูบเหงื่อของนักบอลอังกฤษที่ตัวเองคลั่ง แล้วเอามาลูบไล้ใบหน้าตัวเอง ...
เมื่อความหลงเข้า ครอบงำฝูงชนแห่ง ความคลั่งไคล้ มันมิได้สร้างแต่อารมณ์รักหวานชื่นเสมอไป มันอาจแปรมาเป็นความโกรธความแค้นเมื่อไรก็ได้ หากทีมตัวเองสร้างความผิดหวัง อารมณ์แบบนี้เป็นอารมณ์แบบเดียวกับชายหรือหญิง “คลั่งรัก” เลยทีเดียว
เราจึงเห็นว่า คนที่เข้าขั้นนี้ เวลาที่ทีมตัวเองชนะจึงเห็นกิริยาคล้ายกับคนบ้าเลย เริ่มจากกิริยาง่าย ๆ ที่มีทั้งท่าเต้นท่ากระโดด ไปจนถึงเมามาย ขนาดผู้หญิงจะแก้ผ้าแก้ผ่อนเอา(น่าจะเสียสติไปชั่วขณะ) เวลาแพ้ก็ซึมเศร้า คล้าย ๆ คนเป็นโรคจิตเอาเหมือนกัน นี่ยังไม่รวมถึงการไปรุม “ยำ” กองเชียร์ฝ่ายตรงข้าม ผมสังเกตว่า ทีมฟุตบอลดัง ๆ ทุกวันนี้ มันมิใช่แค่ทีมที่สร้างขึ้นมาเพื่อเล่นกีฬาชนิดหนึ่งอีกแล้ว ทีมฟุตบอลดัง ๆ ระดับสโมสรของแทบทุกประเทศ กลายมาเป็นกิบลัตแห่ง การเล่นพวก ทีมฟุตบอลระดับชาติกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความคลั่งชาติคลั่งเผ่าพันธุ์ เพราะลัทธิคลั่งไคล้ในพวกพ้องทุกชนิดต่างเจริญเติบโตในดินที่อุดมสมบูรณ์ ด้วย “ความหลงใหล” ซึ่งมี เพียบพร้อมในเกมฟุตบอลสมัยใหม่
สำหรับผมแล้ว ฟุตบอลทุกวันนี้จึงวางอยู่อยู่บนรากฐาน “ความ หลงใหล” ซึ่งเป็นรากฐานที่กระทบกระเทือนต่ออะกีดะฮฺของ ผู้ศรัทธา

ผมคิดว่าเกมฟุตบอลทุกวันนี้ มันกลายมาเป็นโครงการที่ร่วมกันผลิตได้ลงตัวระหว่างลัทธิคลั่งพวกพ้องกับพวก พ่อค้าที่เห็นแก่ได้ หันไปดูทีมบอลดัง ๆ แล้วน่าสังเวชอยู่เหมือนกัน เพราะคล้าย ๆ จะกลายเป็นคนเร่ขายของเข้าให้ทุกวัน ทั้งตัวมีแต่ยี่ห้อสินค้า ต้องมาเป็นนายหน้าขายของให้กับพ่อค้าหน้าเลือด
ความลงตัวแบบนี้เป็นที่มาของ “วิถี” ชีวิตแบบตะวันตกที่ปรากฏอยู่ในโครงสร้างสังคมสมัยใหม่แทบทุกด้านก็ว่าได้ เป็นวิถีที่เน้นระหว่างความเป็นชาตินิยม(ซึ่ง จริง ๆ คือเน้นความเป็นปัจเจกชนนิยมที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางนั่นเอง)กับ ความมั่งคั่ง(ซึ่งจริง ๆ คือการปล่อยให้โอกาสอยู่ในมือของคนที่กุมทุนและกุมข้อมูลเท่านั้นเอง) เกมฟุตบอลทุกวันนี้เป็นหนึ่งในผลผลิตที่ลงตัวและน่าเร้าใจมากที่สุดอย่าง หนึ่ง
ความสำเร็จและความ เร้าใจนี้เอง มาพร้อมกับการแย่งชิงเวลาของผู้คนไป ผู้คนมองเห็น แต่ “เกม” ที่อยู่ข้างหน้า มองไม่เห็นความทุกข์ยากของผู้คนที่อยู่รอบตัว ความไม่สนใจคนอื่น เอาแต่ความสุขของตัวนี้เอง ดูจะกลายเป็น “แนว” ของคนรุ่นใหม่ที่แรงขึ้นเรื่อย ๆ
และผมคิดว่า มุสลิมที่ดีจะต้องก้าวออกมาท้าทาย “วิถี” ชีวิตแบบนี้

อิสลามไม่ได้ปฏิเสธ ความบันเทิง การละเล่นและการผ่อนคลายที่อยู่ในขอบข่ายที่ถูกต้อง แต่ในอิสลามนั้น แม้แต่สิ่งดี ๆ อย่างถือศีลอดและละหมาด ถ้าทำมากจนเกินไป จนร่างกายอ่อนแอหรือไม่ได้หลับไม่ได้นอน ก็ถูกคัดค้านจากท่านนบีเอง แล้วนับประสาอะไรกับการละเล่นที่เฝ้าเชียร์กันอย่างหามรุ่งหามค่ำอย่าง ฟุตบอลโลก หรือตามเชียร์กันทั้งปีทั้งชาติแบบฟุตบอลสโมสรทั้งหลายแหล่ !!!

จะอย่างไรก็แล้วแต่ ผมไม่คิดว่าการยัดเหยียด “ฮะรอม” ให้กับคนที่ชอบฟุตบอล จะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง หรือเพียงแค่เห็นเพื่อนเราดูบอล ก็โวยวาย คล้าย ๆ กับเห็นพฤติกรรมที่ชั่วร้ายเสียเหลือเกิน และผมเห็นว่าการโจมตีกีฬาฟุตบอลแบบขาดการแยกแยะ ชนิดที่ว่ายกให้เป็นเรื่องบิดอะฮฺย่อมๆ ถือเป็นเรื่องสุดโต่ง
ความจริงแล้วฟุตบอล หรือกีฬาต่าง ๆ จะต้องได้รับการสนับสนุนและการจัดแข่งขันที่อยู่ในขอบเขตของอิสลาม ทั้งรูปแบบและเป้าหมาย เน้นการออกกำลังกาย และการสร้างความคุ้นเคยระหว่างกัน
แต่... ผมขอยืนยันว่า ฟุตบอลที่เราต้องร่วมกันต่อต้าน คือฟุตบอลที่เผาผลาญเวลาที่มีค่า ฟุตบอลที่นำคนไปสู่มะศียัตต่าง ๆ ฟุตบอลที่มาพร้อมกับวิถีชีวิตที่ขัดแย้งกับอิสลาม

ฟุตบอลที่เป็นมากกว่าลูก กลม ๆ ฟุตบอลที่กลายมาเป็น“เจว็ด” ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อการบูชา

.............................................................
บทบรรณาธิการ

บทความชิ้นนี้ อัล อัค เขียนไว้เมื่อสี่ปีที่แล้ว ตรงกับปี ค.ศ. 2006 ซึ่งเวียนมาครบรอบมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลกอีกครั้งในปี 2010
ข้อมูลจาก http://www.fityah.com/index.php?option=com_content&task=view&id=691&Itemid=30